Loading...

history

สำรวย สุขรวยเจริญ
ผู้ก่อตั้ง ส.รวยเจริญ / เจ้าของธุรกิจเรือนไทย ส.รวยเจริญ

————————————-
ผู้บริหารคนปัจจุบัน
IMG_8007IMG_05955

 

จากลูกจ้างย่ำอิฐ สู่ธุรกิจเรือนไทยเงินล้าน

อาจเพราะเกิดมาก็เห็นแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งชีวิตช่วงหนึ่งก็เคยกินอยู่หลับนอนบนเรือนานนับสิบปี ทำให้ท่วงทีการสนทนาของเธอดูเรื่อยไหลเหมือนสายน้ำ

ด้วยสำเนียงเหน่อๆ อันเป็นเสน่ห์ในแบบฉบับของชาวที่ราบลุ่มภาคกลาง สำรวย สุขรวยเจริญ บรรยายถึงชีวิตอันยากแค้นแสนเข็ญของเธอด้วยน้ำเสียงสบายใจ

ไม่มีเค้าของความน้อยอกน้อยใจในโชคชะตาอันโหดร้าย

และด้วยท่าทีเป็นกันเอง ไม่มีมาดเย่อหยิ่งของ “ผู้มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนในด้านการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ และสืบทอดงานสถาปัตยกรรมไทยประเภท บุคคลดีเด่น” ที่เธอได้รับเกียรติคุณแม้แต่น้อยนิด

และนี่คือ “เจ้าแม่อาณาจักรเรือนไทย” ผู้เริ่มชีวิตจากเงินแค่ 800 บาท กับความทรงจำเก่าๆที่เธอยังจำมันได้ไม่เคยลืม

 

วัยเยาว์ของเจ้าแม่เรือนไทย

สำรวย สุขรวยเจริญ หรือป้ารวย มีพื้นเพเป็นคน อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน พ่อแม่เป็นคนจีน นามสกุลเดิมของเธอตามทะเบียนบ้านคือแซ่นิ้ม แต่ความจริงที่ถูกต้องคือแซ่ลิ้ม

ตั้งแต่เริ่มจำความได้ เธอพบว่าทั้งพ่อและแม่อยู่ในอาการป่วย มีโรคประจำตัวทั้งคู่ พ่อมักอาเจียนเป็นเลือดเนื่องจากการติดฝิ่น ส่วนแม่ก็มีอาการสภาพจิตไม่ปกติ ภาระในการหาเลี้ยงครอบครัวจึงตกอยู่ที่พี่ชายของเธอ ซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างเผาอิฐในโรงอิฐ

ความทรงจำในวัยเด็กสำหรับเธอมีแต่ความอัตคัดขัดสน ต้องกระเบียดกระเสียรทุกอย่าง และเพื่อให้ตัวเองมีโอกาสได้เล่าเรียน เธอต้องหารายได้เองด้วยการช่วยพี่ชายรับจ้างเผาอิฐ

กระบวนการทำอิฐในสมัยนั้น คือการนำดินมาใช้เท้าย่ำ แยกเป็นกองๆ แล้วมาทอดใส่บล็อก ขนขึ้นรถลากแล้วเข็นเข้าเตาเผา ทุกขั้นตอนใช้กำลังคนทั้งหมด

เธอจำได้ว่าตอนนั้นได้ค่าแรง 4 บาทต่ออิฐ 100 ก้อน บางวันที่ขยันมากหน่อย ทำได้ถึงวันละ 1,000 ก้อน ก็จะได้ค่าแรงถึง 40 บาท ทุกเช้า เด็กหญิงสำรวยจึงต้องมาย่ำดินทำอิฐที่โรงอิฐก่อน จากนั้นจึงค่อยไปโรงเรียน

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่การเรียนของเธอค่อนข้างกระท่อนกระแท่น บางครั้งก็ต้องหยุดเรียนเพราะทำงานยังไม่เสร็จ วันไหนที่ได้ไปโรงเรียนก็ใช่ว่าจะเรียนได้ราบรื่น เพราะทั้งสมุด ดินสอก็มีไม่พร้อมสรรพเหมือนคนอื่น แม้กระทั้งเสื้อที่จะสวมไปโรงเรียนก็ไม่มี

ไม่ต้องพูดถึงข้าวกลางวัน ที่เธอถึงกับต้องประทังความหิวด้วยการแอบกินข้าวก้นปิ่นโตที่ครูสั่งให้ไปล้าง !

อย่างไรก็ตาม สำรวยก็ไม่เคยสอบตก เธอกัดฟันเรียนจนจบชั้น ป.4 ซึ่งสำหรับเด็กหญิงบ้านนอกคนหนึ่งในตอนนั้นนับว่าดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว

เมื่อหมดพันธนาการจากการเรียนแล้ว เธอก็กระโจนเข้าสู่การเป็นลูกจ้างทำอิฐเต็มตัว ทุ่มเทอยู่กับการมุมานะทำกิน หาเงินได้เท่าไหร่ก็เก็บหอมรอมริบไว้ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวและรักษาพ่อแม่

แรงผลักดันที่ทำให้เธอมุ่งมั่นทำมาหากินตั้งแต่อายุน้อยนิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพแวดล้อมของสังคมรอบข้างที่ดูหมิ่นเหยียดหยามคนจน โดยเฉพาะครอบครัวของเธอ ถูกเหยียดหยามทั้งด้วยวาจาและการแสดงออกตลอดมา จนความข่มขื่นสั่งสมอยู่ในจิตใจเธออย่างยากจะลบเลือน

มีเพียงครอบครัวเพื่อนบ้านครอบครัวเดียวที่ให้ความเอื้อเฟื้อเจือจาน ด้วยการแบ่งข้าวสารและอาหารมาให้ แม้แต่ลูกสาวที่เป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับเธอชื่อ “มะลิ” ยังแบ่งเสื้อซับในให้เธอใช้ใส่ไปโรงเรียน

สำรวยจดจำความมีน้ำใจของเพื่อนบ้านครอบครัวนี้ไว้ในใจ เธอปฏิญาณกับตัวเองว่า เมื่อใดที่เธอมีโอกาสจะช่วยเหลือพวกเขาได้ เธอจะตอบแทนพวกเขาอย่างไม่ลังเล

 

แต่งงานเพราะโดนฉุด

อายุได้ 15 ปี สำรวยก็เริ่มแตกเนื้อสาว ความเปล่งปลั่งของเธอเกิดไปสะดุดตาชายหนุ่มในการงานบุญงานหนึ่งเข้า ผลก็คือเธอโดนฉุด !

ป้ารวยเล่าให้เราฟังว่า หนุ่มที่มาฉุดเธอนั้นได้รับการยุแหย่จากญาติมาอีกที อาจจะเพราะย่ามใจ เห็นว่าเธอเป็นเพียงเด็กสาวที่ไม่มีฐานะอะไร เป็นแค่ลูก “ตาแป๊ะ” จนๆคนหนึ่ง

เธอถูกฉุดลงเรือมาถึงบ้านเขาที่อยุธยา เขาบอกแกมบังคับว่าให้อยู่ด้วยกันไปช่วงหนึ่งก่อน แล้วจะพากลับมาขอขมากับพ่อแม่ทีหลัง เธอไม่อยู่ในฐานะจะต่อกรอะไรได้ จึงได้แต่กล้ำกลืนอยู่ด้วยความไม่เต็มใจ

นอกจากไม่เต็มใจแล้วยังต้องเผชิญกับแรงกดดันสารพัด โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในบ้านของสามีที่มีฐานะ ถึงแม้จะช่วยดำนา ปลูกข้าว หุงข้าว ทำงานบ้านทุกอย่างแล้ว แต่ก็ยังไม่วายถูกค่อนขอดจากพ่อแม่สามีว่ามาแต่ตัว

ที่สำคัญคือสำรวยอยู่โดยไม่มีรายได้แม้แต่บาทเดียว เมื่อครั้งอยู่บ้านตัวเองแม้จะลำบากขัดสนขนาดไหน แต่เธอก็ยังสามารถทำงานเลี้ยงตัวได้ เงินจากการทำอิฐแม้จะได้วันละ 5 บาท 10 บาท แต่ก็เป็นน้ำพักน้ำแรงที่มีความหมาย

สำรวยจำเพียรอ้อนวอนขอให้สามีพาเธอกลับบ้าน จนสุดท้ายสามีทนไม่ไหว ก็ยอมพาเธอกลับอ่างทอง พร้อมๆกับทำพิธีขอขมาพ่อแม่เป็นเรื่องเป็นราว

เป็นอันว่าเธอกับสามีได้กลับมาอยู่บ้านที่สมใจ แต่ที่นี่ สำรวยต้องแบกภาระในการหาเลี้ยงครอบครัวคนเดียว เพราะสามีมีนิสัยเกียจคร้าน ไมชอบทำมาหากิน

สำรวยทำงานโรงอิฐได้สักพัก กับเงินที่ได้มาน้อยนิด เมื่อต้องเลี้ยงสามีด้วยก็แทบชักหน้าไม่ถึงหลัง จนญาติของเธอคนหนึ่งทนไม่ได้ ชักชวนให้เธอรีบเปลี่ยนอาชีพก่อนที่จะอดตาย

 

แม่ค้าเรือเร่กับเรือนไทยในความฝัน

ญาติผู้ซึ่งมีเรือสำปั้นขนาดใหญ่วิ่งขึ้นล่องค้าขายในแม่น้ำเจ้าพระยาคนนั้น ได้เสนอขายเรือแจวให้สำรวยและสามี 1 ลำเพื่อจะได้มาทำการค้าหากิน

สำรวยเห็นดีด้วย จึงตัดใจขายสร้อยทองสองสลึงที่เคยซื้อเก็บไว้นานแล้ว นำเงินที่ได้มาซื้อข้าวของอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้บนเรือ อีกส่วนหนึ่งสำรองไว้ใช้ในการลงทุนค้าขาย ส่วนค่าเรือราคา 800 บาท ญาติผู้ใจดีตกลงให้เชื่อไว้ก่อนได้

เป็นอันว่าสำรวยเริ่มชีวิตแม่ค้าเรือเร่นับแต่นั้น ทุกวันเรือแจวลำเล็กของเธอจะผูกติดไว้กับท้ายเรือใหญ่ เมื่อไปถึงชุมชนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ริมน้ำ สำรวยกับสามีก็จะพายเรือเล็กออกเร่ขายของ อันได้แก่มะพร้าว กะปี น้ำตาล น้ำปลา พริก หัวหอม กระเทียม โดยสินค้าเหล่านี้จะรับซื้อจากจุดหนึ่งแล้วนำไปขายอีกจุดหนึ่งเป็นทอดๆไป หากเรือเทียบท่าไหนแล้วนฝั่งมีตลาดนัดก็จะนำสินค้าขึ้นไปขายบนฝั่ง

เส้นทางล่องเรือขายของก็คือตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา จากย่านบางขุนเทียน บางไทร ขึ้นไปถึงท่าล่อ พิจิตร กำแพงเพชร ฯลฯ ต้องกินอยู่หลับนอน ประกอบกิจวัตรต่างๆบนเรือทุกวันทุกคืน จนผ่านไปเป็นปี จากหนึ่งปีก็เป็นหลายปี

ระหว่างนั้น ลูกเต้าก็ค่อยๆทยอยคลานตามกันออกมาถึง 6 คน แม้ว่าเธออยากจะดูแลลูกน้อยด้วยตัวเอง แต่ภารกิจการหาเลี้ยงชีพที่รัดตัวก็บังคับให้เธอต้องจำใจฝากลูกๆไว้กับพี่สาวและญาติๆบนฝั่ง

ช่วงแรกที่ขายของชำ มีรายได้แค่พอกินพอใช้ ต่อมาเธอเปลี่ยนมาขายกล้วยไข่กำแพงเพชร ปรากฏว่ารายได้ดีมาก จนสำรวยเก็บเงินซื้อเรือยนต์ได้ในเวลาต่อมา

แม้ความเป็นอยู่จะเริ่มดีขึ้น แต่ชีวิตครอบครัวบนเรือเร่สำหรับสำรวย กลับมีแต่ความคับแค้นใจ เพราะสามีมักเอาเปรียบเธอในทุกเรื่อง นอกเหนือจากหน้าที่หลักคือถือหางเสือแล้ว ก็ไม่ยอมทำอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากกินเหล้าและเล่นหวย หน้าที่ทุกอย่างที่เหลือตกเป็นของสำรวยคนเดียว ทั้งค้าขาย ทำกับข้าว ซักผ้า มิหนำซ้ำยังต้องทนเป็นกระสอบทรายให้สามี เมื่อเรียกร้องจะเอาเงินไปเล่นหวยแล้วได้ไม่สมใจ

บ่อยครั้งที่เธอต้องกระโดดลงไปงมเอาหม้อ ไห ถ้วยชามในแม่น้ำ ยามสามีเกิดอาละวาดฟาดงวงฟากงาขว้างลงไป…

นั่นคือภาพชีวิตด้านลบตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่เธอยังไม่ลืม

แต่ถ้ามองในด้านบวก การที่ได้ล่องเรือไปตามสายน้ำ ก็ทำให้เธอมีโอกาสได้พบเห็นชีวิตและบ้านเรือนสวยงามสองข้างทางมากมาย ความงามของบ้านเรือนไม้ทรงไทยโบราณทั้งหลายเหล่านั้น ได้เข้ามาประทับตราตรึงอยู่ในความใฝ่ฝันของแม่ค้าเรือเร่ตัวเล็กๆคนนี้

“คือมันเป็นความชอบนะ เราเห็นเรือนไทยสวยๆอยู่สองฟากฝั่ง เห็นไอ้ยอดแหลมๆนี่นะ ชอบมาตั้งแต่นั้น เราก็จะแบบ… คิดว่าเออนะ ถ้าเรามีบ้าน…เราก็อยากจะปลูกแบบนี้บ้าง”

ด้วยเหตุนี้… ทุกครั้งที่ล่องเรือลงมาจากทางเหนือ เธอก็จะหาซื้อไม้เก่าๆใส่เรือมาด้วย เอากล้วยไข่กองทับไว้ พอมาถึงป่าโมก ก็จะแบกไม้ขึ้นไปฝากเก็บไว้กับบ้านญาติๆ เที่ยวละท่อนสองท่อน
ด้วยความใฝ่ฝันลึกๆว่า วันหนึ่งเธออาจจะได้นำไม้เหล่านี้มาสร้างบ้านทรงไทยเป็นของตัวเอง

 

กลับขึ้นฝั่ง แยกทางกับสามี

ชีวิตตามสายน้ำมาถึงจุดสิ้นสุด ณ จุดที่เธอหมดความอดทนในพฤติกรรมของสามี สำรวยจึงตัดสินใจขอแยกทาง…

ปรากฏว่า 15 ปีเต็มๆ กับการอุทิศตนทำงานไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย สามีให้ส่วนแบ่งเธอมา 800 บาท กับลูกๆวัยกำลังกินกำลังโตอีก 6 คน

เขาได้เรือทั้งลำไป แม้แต่ไม้เก่าที่เธอซื้อมาฝากญาติเก็บไว้ก็ขโมยเอาไปขายจนเกือบหมด มิหนำซ้ำยังขู่ไม่ให้เธอฟ้องเอาค่าเลี้ยงดูลูกอีก แต่กับนักสู้อย่างสำรวย เหตุการณ์ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนก็ทำอะไรเธอไม่ได้

ก็ดีเหมือนกัน ไม่มีอะไรติดตัวก็สบายดี” เธอบอก

ในวัยเพียง 29 ปี เธอยังมีกำลังเข้มแข็งพอที่จะสู้ สู้ด้วยความเชื่อมั่นว่าชีวิตจะต้องดีขึ้น

ม่ายลูกหก ผู้มีเงินติดตัวไม่ถึงพัน กัดฟันบอกตัวเองอย่างนั้น

กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่บนฝั่งที่ป่าโมก สำรวยนำลูกเต้าที่กระจัดกระจายมาอยู่รวมกัน จัดการซื้อที่ดินมาแปลงหนึ่งจำนวน 1 ไร่เศษ ในราคา 18,000 บาท ด้วยการผ่อนชำระระยะยาว

รวบรวมเศษไม้เก่าๆที่รอดพ้นมือสามีมาได้ ต่อเป็นเพิงเล็กๆมีหลังคาพอให้เธอและลูกได้ซุกหัวนอน

เริ่มหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นแม่ค้า ขายทุกอย่างและขายทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น

เริ่มจากตื่นเช้าตรู่เพื่อไปยังตลาดอ่างทอง ขายผักผลไม้ทั้งมะม่วง สับปะรด รวมถึงพืชผักทุกชนิด

โดยรับเหมาซื้อจากเจ้าของสวน แล้ววางไว้เป็นกองๆ ขายปลีกให้กับคนทั่วไปที่มาจ่ายตลาด พอสายๆตลาดใกล้วายก็ปล่อยออกไปในราคาถูก

ช่วงสามโมงเช้ากลับมาหาบขนมขาย บางวันก็คั่วข้าวโพดให้ลูกเอาไปขายที่โรงเรียน หรือไม่ก็ไปเหมามะม่วงตามสวนมาขาย ฯลฯ ทำทุกอย่างให้ได้เงินมาเลี้ยงลูก 6 ชีวิตที่รอเธออยู่ โชคดีที่ช่วงนี้ลูกๆเริ่มโตพอที่จะช่วยแม่ได้บ้างแล้ว จึงช่วยแบ่งเบาภาระการทำขนมและขายขนมจากแม่ไปได้บ้าง

เธอบอกว่าแม้จะเหนื่อยหนักหนาสาหัส แต่รายได้ก็ไม่เลวเลยทีเดียว เงินสดๆ 500 – 600 บาทที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงในแต่ละวัน ทำให้เธอมีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตขึ้นอีกมาก

แล้วช่วงจังหวะพลิกผันของชีวิตแม่ค้าม่ายก็เกิดขึ้นตรงนี้

ระหว่างที่เป็นแม่ค้าอยู่นั่นเอง คนค้าไม้ที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยล่องเรือด้วยกัน มาพูดคุยขอให้เธอช่วยเป็นนายหน้าหาคนมาซื้อไม้ โดยจะแบ่งเปอร์เซ็นต์จากการขายให้เธอ

แม้จะเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย แต่สำรวยผู้ถือคติ “อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา” ก็ไม่ขัดข้อง

การค้าไม้ดังกล่าว เป็นไม้ที่ได้มาจากการรื้อบ้านจากทางเหนือ ล่องเรือลงมาขายกันเป็นหลังๆ ใครที่ต้องการปลูกบ้านเรือนไม้ สามารถซื้อไม้เหล่านี้ไปประกอบเป็นหลังได้เลย

สำรวยจำได้ว่าเปอร์เซ็นต์จากการเป็นนายหน้าค้าไม้เวลานั้น เขาคิดกันเป็น “ยก” (ไม้ 1 ยกเมื่อนำมาปูพื้นจะได้ปริมาณพื้นที่กว้าง 1 วา ยาว 4 วา) ค่านายหน้ายกละ 300 – 500 บาทแล้วแต่จะตกลงกัน

เมื่อมีรายได้จากหลายทาง สำรวยก็สามารถแบ่งส่วนหนึ่งเก็บหอมรอบริบไว้ได้ โดยหลังจากหักค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่ ค่าเล่าเรียนของลูกๆ และผ่อนจ่ายค่าที่ที่ซื้อมาแล้ว เธอนำเงินที่สะสมไว้จำนวนหนึ่งไปซื้อไม้ แล้วว่าจ้างนายช่างให้ค่อยๆสร้างบ้านหลังใหม่ของเธอไปพร้อมๆกัน

เพียงสามปีหลังจากขึ้นจากฝั่ง ม่ายลูกหกก็สามารถมีบ้านเป็นของตัวเอง !

 

เรือนแฝดทรงไทยหลังแรก กับบทเริ่มต้นของกิจการดัง

บ้านที่สำรวยใฝ่ฝันอยากมีเป็นของตัวเองมานาน เป็นบ้านทรงไทย 2 หลังเข้าคู่ติดกัน หรือที่เรียกกันว่า เรือนแฝด

เรือนหลังแรกในชีวิต เธอได้ว่าจ้างให้นายช่างหล่อ และนายช่างชะลอช่วยลงแรงทำให้ โดยมีเธอยืนกำกับอยู่ข้างๆ ตอนนั้นก็มุ่งหวังแต่จะให้สวยที่สุดเท่ที่จะทำได้ โดยไม่นึกเลยว่าบ้านหลังในฝันนี้ จะพลิกชีวิตเธอทั้งชีวิต

เมื่อบ้านสร้างเสร็จสมบูรณ์ ความโดดเด่นของบ้านหลังใหม่เกิดไปสะดุดตาชาวบ้านคนหนึ่งในละแวกนั้นเข้า เมื่อได้รับคำชื่นชมบ่อยครั้ง เธอก็สบช่องถามทีเล่นทีจริงว่า “อยากได้บ้างหรือเปล่า เดี๋ยวจะทำให้

ปรากฏว่าเขาเกิดสนใจ !

            เธอจึงได้ลูกค้ารายแรกอย่างไม่คาดฝัน พร้อมวงเงินก่อนสร้าง 150,000 บาท

เรือนไทยหลังแรกได้รับการก่อสร้างสำเร็จลงด้วยดีและสำรวยก็เก็บเกี่ยวกำไรได้คุ้มค่า แต่น่าเสียดายช่วงนั้นเธอยังไม่คิดที่จะรับสร้างบ้านให้ใครเป็นจริงเป็นจัง

เพราะกิจการรับซื้อไม้เก่ายังไปได้ดี ไม้เก่าเป็นที่ต้องการสูงจนถึงขนาดเธอต้องเป็นฝ่ายรุกออกหาซื้อเรือนเก่าๆ แล้วรื้อเรือนมาขายต่อเสียเอง ตอนนั้นซื้อมาเท่าไหร่ก็ขายได้หมดไม่มีเหลือ

“ป้ารวยเป็นคนพูดตรง เวลาเขาถามว่าซื้อเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ ก็จะบอกซื้อ 4,000 ขาย 6,000 เพราะต้องเสียค่าเรือ ค่ารื้อ ค่าแรง ก็จะเหลือสักเท่านี้ๆ บอกเขาไปหมด คนซื้อเมื่อได้ฟังก็จะสงสาร ตกลงซื้อ จะเป็นแบบนี้”

ระหว่างที่ค้าขายเรือนไม้เก่าอยู่นี้ เธอก็ยังไม่ยอมทิ้งอาชีพแม่ค้าตลาดสด

ค้าขายตัวเป็นเกลียวมาจนถึงช่วงปี 2525 เธอก็สามารถขยับขยายซื้อที่เพิ่มจากเดิน 1 ไร่เศษเป็น 7 ไร่ ฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวดีขึ้นเป็นลำดับ ได้ส่งเสียให้ลูกๆมีการศึกษาสูงๆกันเกือบทุกคน

ความคิดเรื่องรับปลูกบ้านเรือนไทยอย่างจริงจังจึงได้เริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้ง

 

ส.รวยเจริญ ธุรกิจครบวงจรของบ้านทรงไทย

เหตุที่สำรวยหันกลับมาเกิดความคิดที่จะรับสร้างเรือนไทยอีกครั้ง ก็เนื่องจากปัญหาในธุรกิจค้าเรือนเก่านั่นเอง

ด้วยความที่ช่วงปลูกสร้างเรือนไทยฝีมือดีมีอยู่ไม่มากนัก ลูกค้าที่มาซื้อไม้มักหานายช่างมาประกอบให้ไม่ค่อยได้ เธอก็เลยต้องช่วงจัดหาช่างไปทำงานให้ลูกค้า ต่อมาเธอก็เลยจัดให้มีการฝึกหัดช่างปลูกสร้างเรือนไทยในที่ดินของเธอเสียเลย

เมื่อมีช่างฝีมือเพิ่มขึ้น เธอก็เกิดความคิดที่จะขยายธุรกิจรับจ้างปลูกเรือนใหม่ด้วย

กิจการปลูกสร้างเรือนไทย “ส.รวยเจริญ” จึงถือกำเนิดขึ้น

ช่วงแรกๆที่รับปลูกเรือนไทย เธอก็ประสบปัญหาใหม่ๆ เช่นกัน บางขั้นตอนที่ต้องเขียนแบบแล้วไปจ้างพวกโรงงานทำวงกบประตูหน้าต่างทำให้ ก็โดนขโมยวิชาเอาไปทำขายเสียเอง เธอจึงตัดสินใจควักทุน 100,000 บาท ซื้อเครื่องมือ ทั้งเครื่องไสไม้ เครื่องตีร่อง เครื่องชิดไม้ ฯลฯ มาทำเองทุกขั้นตอน

นับแต่นั้นมาเธอก็ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ มีลูกค้าแนะนำบอกกันปากต่อปาก

พูดต่อๆกันไป จนเกิดเป็นคำขวัญโฆษณากิจการว่า “บ้านไทยสวยต้อง ส.รวยเจริญ

ซึ่งกลายมาเป็นคำขวัญพิมพ์บนเสื้อของช่างปลูกบ้าน “ส.รวยเจริญ” ทุกคนจนทุกวันนี้

 

ความรู้อันเกิดจากความรัก

ด้วยความที่สำรวย หรือ “ป้ารวย” ของใครต่อใคร ทั้งรักและชื่นชอบในบ้านทรงไทยมานานนม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาป้ารวยจึงสั่งสมภูมิความรู้เกี่ยวกับเรือนไทยไว้เป็นจำนวนมาก

เป็นความรู้ที่ได้จากการศึกษาด้วยตนเองแทบทั้งสิ้น เริ่มจากความสนใจใคร่รู้ ไปสู่การสังเกตจดจำใส่ใจในองค์ประกอบปลีกย่อย จนเกิดความเข้าใจในความหมายตลอดจนความจำเป็นของส่วนประกอบต่างๆอย่างแตกฉาน

ถ้ามีโอกาสเจอบ้านหลังไหน ออกแบบได้สวยถูกใจก็จะแอบจำเอาไว้ บ่อยครั้งที่อดรนทนไม่ไหว เอ่ยปากขออนุญาตเจ้าของบ้านแล้วลงมือทาบวัดสัดส่วนขององค์ประกอบที่ชื่นชอบเหล่านั้น เพื่อมาเก็บไว้ทดลองประยุกต์กับงานของตัวเอง

ยิ่งได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับนายช่างฝีมือดีมาหลายสิบปี ป้ารวยจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านบ้านทรงไทยไปอย่างช่วยไม่ได้

นอกจากจะ “รู้จริง” แล้ว ป้ารวยยังมีพรสวรรค์ในการคิดค้นประยุกต์จนทำให้เกิดเรือนไทยในรูปลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นปั้นลม หรือเหงา (ส่วนปลายสุดของจั่ว) มีความโดดเด่นสวยงามในแบบฉบับเฉพาะตัว ถึงขนาด “ถวัลย์ ดัชนี” จิตกรใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทย เคยเห็นบ้านที่เธอสร้างไว้หลังหนึ่ง แค่เห็นเหงาเท่านั้น เขาก็หัวเราะชอบใจบอกว่าอันนี้ฝีมือป้าสำรวยแน่ๆ

นอกจากเรือนไทยที่เป็นที่พักอาศัยแล้ว ส.รวยเจริญ ยังมีผลงานระดับประเทศปรากฏให้เห็นฝีมืออีกหลายแห่ง เช่น เรือนไทยแสดงหัวโขน วังสวนผักกาด, ศาลาทิพย์ริมน้ำ โรงแรมแชงกรีล่า และ ศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา เป็นต้น

จนถึงปัจจุบัน ยังมีผู้คนมาขอความรู้จากป้ารวยอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งเธอก็ยินดีถ่ายทอดความรู้เป็นวิทยาทานเช่นกัน

 

เมื่อบ้านทรงไทยไปอวดสายตาในเวทีนานาชาติ

หลังจากที่สั่งสมชื่อเสียงจนเป็นที่กล่าวขานในวงการบ้านทรงไทยสำเร็จ ผลงานของ ส.รวยเจริญ ก็มีโอกาสไปเผยแพร่ในเวทีนานาชาติ

เมื่อภาครัฐติดต่อให้ป้ารวยไปสร้างบ้านทรงไทยให้ 3 หลังในนาม “สมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวง” ในงาน “เอกซ์โป” ณ ประเทศเยอรมนี อันถือเป็นงานแสดงสินค้าระดับโลก

ปรากฏว่าความวิจิตรงดงามของเรือนไม้ทรงไทย 3 หลังเข้าตากรรมการสามารถคว้ารางวัลที่ 3 จากทั้งหมด 157 ประเทศ ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของป้าสำรวย

“ตอนนั้น เขามาติดต่อให้ป้านำเรือนไทย 3 หลังไปสร้างที่นั้น เราก็ไม่มีความรู้อะไร ป้ารวยก็พูดไปแบบคนไม่มีความรู้ ให้เขาจัดการหาที่กินที่นอน เรื่องหยูกยาอะไรต่ออะไร ซึ่งเขาก็จัดการให้หมด… ปรากฏว่าทำไมทำมาเราได้รางวัล ซึ่งป้าดีใจมากนะที่ได้ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ภูมิใจที่สุดในชีวิตเลยล่ะ”

 

กว่า 20 ปีบนเส้นทางชีวิต รวยเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบร้อน

เป็นเวลากว่า 20 ปี นับตั้งแต่ป้ารวยเริ่มเป็นนายหน้าค้าไม้เก่า ซื้อขายเรือนเก่ามาจนถึงรับปลูกเรือนไทย เป็นเวลา 20 ปีที่เต็มไปด้วยขวากหนาม กว่าจะฝ่าฟันมาได้ก็แทบเลือดตากระเด็น

แต่ผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งก็ไม่เคยยอมแพ้ ต่อสู้อุปสรรคจนสำเร็จ

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ป้ารวยบอกว่าต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งความมานะอดทน ความซื่อสัตย์สุจริต การประหยัดอดออม ไปจนถึงการรักษาสัจจะ

การรักษาสัจจะสำคัญที่สุด ทำให้เกิดความเชื่อถือ และนำไปสู่ความเชื่อมั่นในที่สุด

นอกจากนี้ เธอเห็นว่าความรับผิดชอบยังเป็นอีกจุดที่ทำให้งานของเธอมีชื่อเสียง

ไม่เพียงแต่จะปลูกบ้านที่สวยงามสุดฝีมือ ป้าสำรวยยังมีทีมงานคอยติดตามให้บริการหลังการขาย คอยปรับปรุงซ่อมแซมแก้ไขให้กับลูกค้าอีกด้วย

แม้แต่ป้ารวยเอง ก็ยังแวะไปเยี่ยมบ้านลูกค้าด้านตนเองอยู่เสมอ เพื่อตรวจดูความถูกต้องเรียบร้อย อีกทั้งยังให้คำแนะนำด้านพิธีกรรมด้วย อย่างเช่นการลงเสาเอก เพิ่มความประทับใจให้ลูกค้าขึ้นอีก

เคล็ดลับความรวยในวันนี้ของป้ารวย จึงอยู่ที่การ “ไม่รีบร้อนรวย” รับงานตามตามกำลังที่รับไหว ภายใต้การควบคุมคุณภาพอย่างดีที่สุด

วันนี้ เธอมีโอกาสทำเงินมากมาย ถ้าเพียงแต่จะเน้นรับงานที่ปริมาณ แต่เธอก็เลือกที่จะไม่ทำ ขนาดมีชาวต่างชาติเสนอว่าจะลงทุนให้เธอเปิดตลาดต่างประเทศ เธอก็ยังไม่เอา

ป้ารวยจะทำอะไรแบบสบายใจ ไม่สบายใจไม่ทำ” เธอว่า

สำรวจความสำเร็จของอาณาจักรเรือนไทยร้อยล้าน

            ปัจจุบัน อาณาจักรของ “ส.รวยเจริญ” แบ่งเป็น 2 แห่ง

ที่ดินเดิม 7 ไร่ในอำเภอป่าโมก นอกจากเป็นที่ตั้งของโรงงานเพื่อใช้ในการผลิตแล้ว ยังประกอบด้วยเรือนไทยส่วนตัวของป้ารวยจำนวน 9 หลัง

ส่วนที่ดินอีกแปลงหนึ่งริมถนนสายเอเชีย จ.อยุธยา ที่เปรียบเสมือน “โชว์รูม” ของเธอในปัจจุบัน มีเรือนไทยสวยงามหลายแบบ ตั้งเรียงรายคล้ายเป็นตัวอย่างสินค้าอวดสายตาผู้คน

แม้จะเป็นเพียงเรือนตัวอย่าง แต่ทุกหลังสร้างจากไม้สักแท้ ไม่นับรวมถึงตู้ โต๊ะ เครื่องแป้ง ตั่ง ที่ใช้ตกแต่งเรือน ซึ่งเป็นของโบราณล้ำค่าทั้งสิ้น

เครื่องเรือนเหล่านี้ เธอบอกว่ามักมีคนนำมาเสนอขายบ่อยครั้ง เธอช่วยซื้อเก็บไว้เพราะความสงสาร ซื้อบ่อยๆเข้า ตอนนี้บ้านเธอเริ่มคลับคล้ายพิพิธภัณฑ์เข้าไปทุกที

ในเรื่องของการบริหารกิจการนั้น ถึงปัจจุบัน ลูกๆเริ่มเข้ามารับช่วงต่อได้แล้ว ส่วนที่ป้ารวยยังดูแลอยู่ คงเหลือเพียงประมาณ 25% เท่านั้น

สำหรับช่างฝีมือที่อยู่ร่วมกันมานานนั้น ปัจจุบันป้ารวยปลูกบ้านให้อยู่อย่างสุขสบายในบริเวณโรงงานรวมทั้งสิ้น 7 ครอบครัว

ทั้งหมดทั้งปวงคืออาณาจักรในปัจจุบันของเธอ ซึ่งน่าจะระบุตัวเลขของทรัพย์สินทั้งหมดลำบาก แต่ไม่น่าจะหนีหลักร้อยล้านแน่ๆ

สำรวย สุขรวยเจริญ ในวันนี้ มีบั้นปลายชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุข เคียงข้างลูกหลานที่ล้วนเติบใหญ่และเป็นกำลังสำคัญ

และนี่เอง,,, ผลพวงแห่งความเหนื่อยยากมาค่อนชีวิตของป้ารวย

 

ก่อนจากกันในวันนี้ ป้ารวยขอฝากคำเรียบง่ายจากใจของเธอผ่านหนังสือของเราถึงลูกค้าของเธอทุกคน

“ขอกราบขอบพระคุณทุกๆท่านที่ได้เคยอุดหนุนเรือนไทยของสำรวยคนนี้ ทำให้สำรวยสามารถมีวันนี้ได้ ขอขอบพระคุณอีกครั้งด้วยใจรำลึกถึงอย่างไม่มีวันลืม”

 Previous  All works Next